การเคลือบเซรามิก

สำหรับงานเซรามิกยุคใหม่นั้น กระบวนการที่ขาดไม่ได้เลย ในการทำชิ้นงานออกมาสักชิ้นหนึ่ง นั่นก็คือการเคลือบแก้วให้กับเนื้องาน เพื่อจุดประสงค์ ในการเพิ่มความแข็งแรง และคุณประโยชน์ในการใช้สอย ให้กับเนื้องานซึ่งสารที่ใช้เคลือบเนื้องานนั้นส่วนใหญ่จะเป็นสารประกอบซิลิเกต จึงอาจกล่าวได้ว่า เคลือบเซรามิก ก็คือเนื้อของสารประกอบซิลิเกต ที่ถูกความร้อนจนหลอมละลายเป็นเนื้อเดียวและฉาบแน่นอยู่บนเนื้องาน เมื่อเคลือบแก้วนั้นอยู่มีการติดแน่นบนเนื้องานแล้ว จะมีคุณสมบัติที่เป็นมันวาวคล้ายแก้ว และทนทานต่อความเป็นกรด หรือด่าง ไม่ยอมให้มีความชื้น หรือน้ำไหลผ่านได้ อย่างไรก็ตามแม้เคลือบจะมีคุณสมบัติคล้ายแก้ว แต่จะมีส่วนประกอบทางเคมี ที่มีความซับซ้อนกว่าแก้วอย่างมาก

ประโยชน์ของการเคลือบงาน

1.เน้นความสวยงามให้กับเนื้องาน เพราะการเคลือบจะทำให้เนื้องาน มีความเป็นมันวาวคล้ายแก้ว อีกทั้งยังสามารถที่จะวาดลวดลายใส่เข้าไปได้อีกด้วย

2.เป็นการปิดบังหรือแก้ไขเนื้องาน ที่ไม่สมบูรณ์ เช่นการใช้เคลือบปกปิดรอยบิ่นของเนื้องาน เป็นต้น

3.เพื่อเพิ่มความแข็งแรง ให้กับผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะเนื้องานประเภทภาชนะ นั้นจะต้องสามารถป้องกันการซึมผ่าน ของก๊าซ และของเหลว ซึ่งการทำเคลือบ นั้นจะช่วยเสริมส่วนนี้ของเนื้องานได้

4.เพื่อเน้นคุณประโยชน์ ในด้านการใช้สอย และการทำความสะอาดเนื้อผลิตภัณฑ์ ซึ่งเนื้องานที่ทำการเคลือบ จะสามารถทำความสะอาดได้ง่ายกว่าเนื้องาน ที่ไม่ได้ทำการเคลือบ

5. เพิ่มความแข็งแกร่ง ของเนื้อผลิตภัณฑ์ ทำให้เนื้องาน สามารถทนต่อการบิ่น การกัดกร่อน หรือแตกหักได้ดีกว่าเนื้องาน ที่ไม่ได้ทำการเคลือบ

6. เพิ่มคุณสมบัติ เฉพาะอย่าง ให้กับเนื้องาน เช่น คุณสมบัติด้านไฟฟ้า คุณสมบัติทางเคมี เป็นต้น

สำหรับ วิธีการทำเคลือบ ให้กับเนื้องาน มีหลายวิธีดังต่อไปนี้

  1. การใช้แปรงทา (Painting) ลักษณะงานเคลือบแบบนี้ จะเป็นลักษณะดั้งเดิม ที่มีการใช้งานกัน โดยจะใช้แปรงจุ่มสารเคลือบที่มีการผสมไว้แล้ว แล้วนำมาทาที่เนื้องาน ซึ่งกรรมวิธีนี้ต้องอาศัย ฝีมือและทักษะตลอดจนสมาธิเป็นอย่างมาก โดยควรเลือกใช้แปรงที่มีขนนุ่ม อมน้ำได้มาก และควรทาโดยการเน้นทาไปทางเดียวกัน ไม่ควรวนไปมาซ้ำๆ เนื่องจากจะทำให้เนื้องานไม่มีความเรียบสวย และอาจเกิดรอยขึ้นได้
  2. การใช้วิธีเทราด (Pouring) เป็นลักษณะการเคลือบที่จะเน้นการใช้งานเคลือบกับพื้นผิวด้านในของภาชยะ เช่น โอ่ง กระถาง เป็นต้น ซึ่งวิธีการนี้แต่เดิมจะจุ่มเนื้องาน ลงในถาดตื้นๆ ที่มีสารเคลือบอยู่ จากนั้นจึงตักสารเคลือบค่อยๆ ราดให้ทั่ว แต่วิธีการนี้เปลืองเวลาอย่างมาก ปัจจุบันจึงเปลี่ยนเป็นเป็นการวางเนื้องานบนสายพาน จากนั้นจึงให้น้ำยาไหลลงมาเคลือบเนื้องานแทน
  3. การจุ่ม (Dipping) เป็นกระบวนการเคลือบ ที่มีลักษณะในการใช้อ่าง หรือถัง สำหรับใส่น้ำยาเคลือบ จากนั้นจึงจะเอาเนื้องานลงไปจุ่ม เพื่อให้สารเคลือบนั้นเกาะที่ตัวเนื้องาน ซึ่งวิธีการนี้ จะต้องอาศัยความชำนาญ ในการจุ่มอย่างมาก โดยต้องกะระยะเวลาที่เหมาะสม ในการจุ่ม เพื่อให้น้ำยานั้นเคลือบตัวชื้นงานอย่างพอเหมาะ ไม่หนา หรือบางจนเกินไป อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้เปลี่ยนมาใช้ระบบอุตสาหกรรม ในการจุ่มสารเคลือบแทนการใช้แรงงานมนุษย์ ที่กินเวลาแล้ว เนื่องจากวิธีการจุ่มเป็นวิธีการเคลือบ ที่นิยมอย่างมากในวงการผลิตเซรามิก และงานเคลือบต่างๆ
  4. การพ่น (Spraying) เป็นกระบวนการที่ใช้สำหรับการพ่นเคลือบสารเคลือบกับชิ้นงาน เหมาะกับชิ้นงานที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งลักษณะการสเปรย์ ก็คือการใช้หลักของการฉีดพ่นฝอยสารเคลือบ ให้ออกมาตามเครื่องมือสำหรับการพ่นเป็นพิเศษ ซึ่งมักจะเป็นเครื่องมือประเภท Spray Gun ที่ประกอบไปด้วยหัวพ่นแบบพิเศษ กระบอกสำหรับใส่เคลือบ และตู้สำหรับวางชิ้นงานที่จะพ่น ซึ่งตู้ดังกล่าวนี้จะเป็นตัวที่คอยป้องกันการฟุ้งกระจายของสารเคลือบระหว่างการพ่น นอกจากนั้นแล้วยังต้องมีการติดตั้งพัดลมสำหรับการดูดละอองของเคลือบออกไประหว่างกระบวนการพ่นอีกด้วย

สำหรับผลิตภัณฑ์ที่นิยมใช้การพ่น ในการเคลือบชิ้นงาน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ จำพวกสุขภัณฑ์ อ่างล้างหน้า ชักโครก ตลอดจนผลิตภัณฑ์ บางประเภทที่นอกเหนือจากนี้ ที่ต้องการการเคลือบแบบพิเศษ

ขอบคุณที่มาจาก http://www.ceramiclover.com

เรื่องนี้ถูกเขียนใน ไม่มีหมวดหมู่ และติดป้ายกำกับ , , , , , คั่นหน้า ลิงก์ถาวร