ประเภทของเซรามิก แยกตามเนื้องาน

สำหรับประเภทของเซรามิกนั้น มีหลากหลายประเภทเลยทีเดียว และก็มีรูปแบบการจำแนกหลายวิธีเช่นกัน ซึ่งวันนี้เราจะมาแนะนำวิธีการจำแนกผลิตภัณฑ์เซรามิก ตาม เนื้องานที่ได้ ซึ่งก็มีการจัดกลุ่มใหญ่ๆ และแยกย่อยเอาไว้มากเลยทีเดียว ดังต่อไปนี้

1.พอร์ชเลน (Porcelain) เป็นลักษณะของเนื้องานเซรามิก ที่มีเนื้อสีขาว มีความมันเงางาม และแข็งแกร่งในลักษณะของแก้ว แต่ไม่ดูดซึมน้ำ เวลาเคาะจะมีเสียงดังกังวาน โดยพอร์ซเลน จะมีวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต คือ ดินขาว ดินเหนียว แร่ฟันม้า หินควอทซ์ และหินไชน่าสโตน

งานพอร์ซเลนนั้นยังสามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยๆ ได้ดังนี้

–  ดินพอร์ซเลนทั่วไป เป็นลักษณะของเนื้องานที่มีแบบที่ดี มีการเผาแบบรีดักชั่น ลักษณะของเนื้องานจะไม่มีความโปร่งแสง จึงเหมาะกับการนำมาเขียนเป็นลวดลาย ซึ่งได้แก่ เครื่องช้ำจพวกเบญจรงค์ เครื่องลายคราม เป็นต้น

–  ดินอะลูมิน่าพอร์ซเลน เป็นลักษณะของดินที่นำมาใช้ทำเนื้องานที่มีความแข็งแรงทนทานเป็นพิเศษ สำหรับดินฟ้าอากาศ เช่นการทำลูกถ้วยไฟฟ้า ลูกบด หรืออิฐกรุ เป็นต้น

– ดินพอร์ซเลนเนื้อขาว เป็นดินที่มีลักษณะที่ให้ความแตกต่างจากดินพอร์ซเลนทั่วไปเพราะมีความโปร่งแสง มีเนื้อที่ขาว และละเอียด จึงมักถูกนำมาเลือกใช้ในการทำชิ้นงานประเภทประดับตกแต่ง งานโคมไฟ งานปั้น ตุ๊กตาพอร์ซเลน เป้นต้น

  1. โบน ไชน่า (Bone China) เป็นลักษณะของเนื้องานเซรามิก ที่มีความมันวาวสูง เนื้อละเอียด บางเบา มีความโปร่งแสง แต่ก็มีความแข็งแรงอย่างมาก จึงทำให้มันเป็นงานเซรามิก ที่มีราคาแพง และเป็นที่ต้องการมากที่สุด ถือเป็นเซรามิกคุณภาพดีที่สุด ทั้งนี้งานโบนไชน่า จะมีส่วนผสมของเถ้ากระดูกถึงประมาณ 50% ของเนื้องานหนึ่ง ๆ นอกจากนั้นแล้วก็จะมีดินขาวเคโอลิน , หินไชน่าสโตน อย่างละ 25% ทั้งนี้เพราะเถ้ากระดูกนั้นจะเป็นส่วนผสมสำคัญ ที่ทำให้เนื้องานมีความมันวาว เนื้อโปร่งแสง แต่ก็มีความแข็งแรงสูง ซึ่งเถ้ากระดูกนั้นจะได้จากกระดูกสัตว์ นำไปเผาที่อุณหภูมิสูงราว 1,000 -1,500 องศาเซลเซียส ก่อนนำมาบดให้เป็นผง สำหรับการใช้งานผสมในเนื้อโบนไชน่า
  1. เอิธเธิร์นแวร์ (Earthenware) เป็นผลิตภัณฑ์เซรามิก ที่มีลักษณะทึบแสง เนื้อดินมีความพรุน และสามารถดูดซึมน้ำได้ดี เนื้องานไม่ขาวมากนัก ยกตัวอย่างงานประเภทนี้ก็เช่น หม้อดิน คนโฑน้ำ กระถางต้นไม้ เป็นต้น สำหรับเอิธเธินแวร์นั้น ยังสามารถที่จะแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยๆ ได้ดังต่อไปนี้

– ดินเอิธเธิร์นแวร์ไฟสูง เป็นลักษณะของดินที่นำมาใช้ทำเอิธเธิร์นแวร์ ที่มีเนื้อหยาบ และขึ้นรูปได้ดี ต้องมีการเผาที่อุณหภูมิสูงราวๆ 1,200-1,230 องศาเซลเซียสขึ้นไป งานประเภทนี้ได้แก่ กระถางและกระเบื้องลอน

– ดินเอิธเธิร์นแวร์ไฟต่ำ เป็นดินโดโลไมต์ ที่มีลักษณะเนื้อสีขาว น้ำหนักเบา จึงมักถูกนำไปใช้สำหรับงานประดับตกแต่งมากกว่างานประเภทอื่น

– ดินเอิธเธิร์นแวร์เนื้อแดงเป็นดิน ที่มีการนำไปเผาด้วยอุณหภูมิที่สูง หลังเผาจะมีสีส้ม เหมาะกับการนำมาใช้เป็นภาชนะอาหาร และของตกแต่งบ้าน

  1. สโตนแวร์ (Stoneware) เป็นลักษณะของเนื้องาน ที่สามารถเลือกใช้งานได้อย่างหลากหลาย เช่นการใช้กับ งานหล่อ งานอัดปั๊ม หรือผลิตภัณฑ์ทำอาหารเป็นต้น เนื้องานประเภทนี้จะมีชิ้นเนื้องานที่หนาและหนัก เพราะเน้นที่ความแข็งแรงทนทาน โดยสโตนแวร์ จะมีการแบ่งย่อยๆ ออกดังนี้

– ดินสโตนแวร์ธรรมดา เป็นเนื้องานที่มีคุณสมบัติสไลด์ตัวได้ดี จึงมักถูกนำมาใช้ในงานปั้น งานขึ้นรูปต่างๆ

– ดินสโตนแวร์เนื้อขาว เป็นดินที่มีคุณสมบัติในการตกแต่งแบบใส และสามารถที่จะวาดลวดลายได้ จึงมักถูกนำมาใช้ทำผลิตภัณฑ์สำหรับการใช้งานบนโต๊ะอาหาร เช่น แก้วเซรามิคลำปาง

– ดินสโตนแวร์ สำหรับงานหล่อชิ้นใหญ่ เป็นดินที่มีคุณสมบัติ ในการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ ที่เป็นชิ้นใหญ่ๆ ได้ เช่น กระเบื้องห้องน้ำ สุขภัณฑ์ เป็นต้น

– ดินสโตนแวร์เนื้อแดง เป็นดินที่มีลักษณะเป็นสีแดง หลังการเผาที่ความร้อนสูง จึงมักถูกนำมาทำเป็นชุดภาชนะอาหารที่มีความแปลกตา

นอกจากนั้นแล้ว ยังมีเนื้องานที่ถูกจัดว่าเป็นงานเซรามิก เช่นงานแก้ว งานวัสดุทนไฟอีกด้วย แต่ปัจจุบันนั้นดูเหมือนจะเป็นการจำแนกให้อยู่ต่างกลุ่มกันออกไป เนื่องจากลักษณะการใช้งาน และเนื้องาน

ที่มา : แก้วเซรามิคลำปาง

 

เรื่องนี้ถูกเขียนใน ไม่มีหมวดหมู่ และติดป้ายกำกับ , , , คั่นหน้า ลิงก์ถาวร